ที่มาที่ไปของการพัฒนางานวิจัยสู่การผลิต…สเปรย์กำจัดไรฝุ่นไมท์เฟียร์ (Mite fearr)

• เริ่มจากเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว อาจารย์ได้เรียนรู้พื้นฐานเรื่องไรชนิดต่าง ๆ ทั้งไรพืช ไรที่ทำร้ายมนุษย์ และไรที่ทำร้ายสัตว์ต่าง ๆ จากท่าน ศ.ดร. อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เริ่มศึกษาจริงจังเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นว่ามีใครศึกษาเรื่องใดบ้าง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีจำนวนไรฝุ่นหลากชนิดมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลทางต่างประเทศ จากนั้นจึงได้เริ่มขอทุนศึกษาวิจัยจากโครงการ BRT สกว. เพื่อศึกษาความหลากหลายของไรฝุ่นในเขตพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี


• นอกจากนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้วยังมีรายงานในประเทศไทยว่าคนไทยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นและเกิดอาการมีถึง 8 ล้านคน แต่ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่มาแก้ปัญหานี้เลย มีแต่เรื่องของผ้ากันไรฝุ่น ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาอาการแพ้ได้ในระยะสั้น โดยผ้ากันไรฝุ่นจะถูกนำมาผลิตเป็นผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุมหมอน เพื่อกันไรฝุ่นที่มีขนาด 300 ไมครอน ทำให้ไรฝุ่นไม่สามารถโผล่ออกมาหรือเข้าไปฝังตัวอยู่ในฟูกที่นอนได้ เป็นการลดเรื่องการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ แต่ว่ามูลของมันก็อาจหลุดรอดออกมานอกผ้ากันไรฝุ่นได้ เพราะมีขนาดเล็กกว่า จริง ๆ แล้วสารที่ก่อภูมิแพ้หลัก คือ มูลและคราบของมัน ซึ่งถ้าใช้ไปไม่กี่ครั้ง เวลาเรานั่งหรือลุก การยืดหยุ่นก็จะทำให้สารก่อภูมิแพ้หรือไรฝุ่นสามารถกระจายตัวออกมาและอาศัยอยู่อย่างปกติได้ ซึ่งข้อมูลงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาได้ระบุด้วยว่า ผู้ป่วยที่ใช้และไม่ใช้ผ้ากันไรฝุ่น มีสัดส่วนไม่ต่างกัน คือช่วยบรรเทาภูมิแพ้ได้เพียงเล็กน้อย

• ผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศอีกชนิดหนึ่งคือ เครื่องดูดฝุ่นกำลังแรงสูง แต่มีราคาแพงมาก เมื่อ 8 ปีที่แล้วราคาประมาณ 4-5 หมื่นบาท ซึ่งช่วยได้ในเรื่องของลดสารก่อภูมิแพ้ แต่ไม่สามารถดูดตัวไรฝุ่นซึ่งมีจำนวนมากออกมาได้หมด ส่วนในประเทศไทย การแก้ปัญหาผู้ป่วยภูมิแพ้ เป็นเพียงการไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาโดยใช้ยาบำบัด หรือการฉีดสารภูมิคุ้มกันอีกเป็นร้อยเข็ม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาและสิ้นเปลืองเงินทอง รวมถึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกประการที่ผู้ป่วยสามารถทำได้คือ การกำจัดไรฝุ่นโดยการนำฟูกไปผึ่งแดด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสามารถกำจัดไข่ไรฝุ่นได้เพียง 10% เท่านั้น แต่ตัวไรฝุ่นส่วนใหญ่ยังอยู่ข้างใน ส่วนตัวเต็มวัยก็ไม่สามารถกำจัดได้เพราะไรฝุ่นจะมุดลงเพื่อหนีความร้อนจากแสงแดด ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ หากอาศัยในเขตเมือง โอกาสที่จะนำฟูกออกผึ่งแดดแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถึงนำออกไปได้ก็หาที่วางผึ่งแดดไม่ได้

• เท่าที่อาจารย์ทำวิจัยสำรวจพบว่า ชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบทมีการรักษาความสะอาดในห้องนอนน้อยมากและไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความสะอาดของที่นอน คือเข้านอนแต่หัวค่ำ พอเช้าก็รีบออกไปทำงานแล้ว กลับมาก็เข้านอนใหม่ จุดนี้ก็เลยทำให้มองว่าเราจะกำจัดไรฝุ่น…ศัตรูตัวร้ายในที่นอนนี้ได้อย่างไร

 

 ที่มา : บทสัมภาษณ์ และ เอกสารเผยแพร่ไรฝุ่นบ้าน โดย ผศ.ดร.อำมร อินทรสังข์ และทีมวิจัย