อีกหนึ่งผลงานคุณภาพจาก สวทช.

กำจัดไรฝุ่นสิทธิบัตร-สวทช.

 

“เราต้องมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่สามารถสู่ห้างได้ อีกจำนวนหนึ่งต้องเป็นหิ้ง เป็นคลังสมองไว้”

สัมภาษณ์พิเศษ : ผศ.ดร.อำมร อินทร์สังข์
สัมภาษณ์ : ขวัญชนก

“เราต้องมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่สามารถสู่ห้างได้ อีกจำนวนหนึ่งต้องเป็นหิ้ง เป็นคลังสมองไว้”

ไรฝุ่นตัวจิ๋ว…ศัตรูตัวร้ายบนที่นอน งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

• ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” กับอาการที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็น เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ หอบหืบ และโรคแพ้อากาศ ล้วนมีสาเหตุมาจากผงฝุ่นจากสัตว์ตัวจิ๋วที่ชื่อว่า “ไรฝุ่น” ซึ่งพบได้ตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม โซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตา โดยมีรายงานว่าคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตุมาจากไรฝุ่นประมาณ 10 ล้านคนแล้ว


• ดร.อำมร อินทร์สังข์ และทีมวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ใช้เวลากว่า 8 ปีได้ค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้สำเร็จ กับอีก 2 ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตร จนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการพิสูจน์จากผู้บริโภคจำนวนหนึ่งแล้วว่าสามารถบรรเทาปัญหาโรคภูมิแพ้ได้จริง ๆ

ที่มาที่ไปของการพัฒนางานวิจัยสู่การผลิตสเปรย์กำจัดไรฝุ่น

• เริ่มจากเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว อาจารย์ได้เรียนรู้พื้นฐานเรื่องไรชนิดต่าง ๆ ทั้งไรพืช ไรที่ทำร้ายมนุษย์ และไรที่ทำร้ายสัตว์ต่าง ๆ จากท่าน ศ.ดร. อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เริ่มศึกษาจริงจังเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นว่ามีใครศึกษาเรื่องใดบ้าง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีจำนวนไรฝุ่นหลากชนิดมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลทางต่างประเทศ จากนั้นจึงได้เริ่มขอทุนศึกษาวิจัยจากโครงการ BRT สกว. เพื่อศึกษาความหลากหลายของไรฝุ่นในเขตพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

• นอกจากนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้วยังมีรายงานในประเทศไทยว่าคนไทยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นและเกิดอาการมีถึง 8 ล้านคน แต่ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่มาแก้ปัญหานี้เลย มีแต่เรื่องของผ้ากันไรฝุ่น ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาอาการแพ้ได้ในระยะสั้น โดยผ้ากันไรฝุ่นจะถูกนำมาผลิตเป็นผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุมหมอน เพื่อกันไรฝุ่นที่มีขนาด 300 ไมครอน ทำให้ไรฝุ่นไม่สามารถโผล่ออกมาหรือเข้าไปฝังตัวอยู่ในฟูกที่นอนได้ เป็นการลดเรื่องการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ แต่ว่ามูลของมันก็อาจหลุดรอดออกมานอกผ้ากันไรฝุ่นได้ เพราะมีขนาดเล็กกว่า จริง ๆ แล้วสารที่ก่อภูมิแพ้หลัก คือ มูลและคราบของมัน ซึ่งถ้าใช้ไปไม่กี่ครั้ง เวลาเรานั่งหรือลุก การยืดหยุ่นก็จะทำให้สารก่อภูมิแพ้หรือไรฝุ่นสามารถกระจายตัวออกมาและอาศัยอยู่อย่างปกติได้ ซึ่งข้อมูลงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาได้ระบุด้วยว่า ผู้ป่วยที่ใช้และไม่ใช้ผ้ากันไรฝุ่น มีสัดส่วนไม่ต่างกัน คือช่วยบรรเทาภูมิแพ้ได้เพียงเล็กน้อย

• ผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศอีกชนิดหนึ่งคือ เครื่องดูดฝุ่นกำลังแรงสูง แต่มีราคาแพงมาก เมื่อ 8 ปีที่แล้วราคาประมาณ 4-5 หมื่นบาท ซึ่งช่วยได้ในเรื่องของลดสารก่อภูมิแพ้ แต่ไม่สามารถดูดตัวไรฝุ่นซึ่งมีจำนวนมากออกมาได้หมด ส่วนในประเทศไทย การแก้ปัญหาผู้ป่วยภูมิแพ้ เป็นเพียงการไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาโดยใช้ยาบำบัด หรือการฉีดสารภูมิคุ้มกันอีกเป็นร้อยเข็ม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาและสิ้นเปลืองเงินทอง รวมถึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกประการที่ผู้ป่วยสามารถทำได้คือ การกำจัดไรฝุ่นโดยการนำฟูกไปผึ่งแดด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสามารถกำจัดไข่ไรฝุ่นได้เพียง 10% เท่านั้น แต่ตัวไรฝุ่นส่วนใหญ่ยังอยู่ข้างใน ส่วนตัวเต็มวัยก็ไม่สามารถกำจัดได้เพราะไรฝุ่นจะมุดลงเพื่อหนีความร้อนจากแสงแดด ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ หากอาศัยในเขตเมือง โอกาสที่จะนำฟูกออกผึ่งแดดแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถึงนำออกไปได้ก็หาที่วางผึ่งแดดไม่ได้

• เท่าที่อาจารย์ทำวิจัยสำรวจพบว่า ชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบทมีการรักษาความสะอาดในห้องนอนน้อยมากและไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความสะอาดของที่นอน คือเข้านอนแต่หัวค่ำ พอเช้าก็รีบออกไปทำงานแล้ว กลับมาก็เข้านอนใหม่ จุดนี้ก็เลยทำให้มองว่าเราจะกำจัดไรฝุ่น…ศัตรูตัวร้ายในที่นอนนี้ได้อย่างไร

รู้จักไรฝุ่น

• ไรฝุ่นเป็นสัตว์ขนาดเล็กมาก ขนาดประมาณ 300 ไมครอน ลักษณะคล้ายแมงคือมีแปดขา แต่ตัวอ่อนมีหกขา ไม่มีตาและหายใจผ่านทางผิวหนัง ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 g. สามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1 ล้านตัวนานถึง 1 สัปดาห์
• สารก่อภูมิแพ้หลักมักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 g./ฝุ่น 1 g. หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ฝุ่น 1 g. เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 g./ฝุ่น 1 g. จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้

ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้เฉลี่ย 11 g./ฝุ่น 1 g. และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้เฉลี่ย 5 g./ฝุ่น 1 g.
ที่มา : เอกสารเผยแพร่ ไรฝุ่นบ้าน โดย ผศ.ดร.อำมร อินทร์สังข์ และทีมวิจัย

จากโจทย์วิจัย…สู่คำถามที่ท้าทายของผู้บริโภค

• โจทย์วิจัยที่เราสนใจในขณะนั้นก็คือ การกำจัดไรฝุ่นด้วยวิธีที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ประกอบกับอาจารย์มีความรู้เรื่องสมุนไพรกำจัดไรพืชในระดับหนึ่ง จึงเกิดความพยายามที่จะนำสมุนไพรมาลองกำจัดไรฝุ่นบ้าง เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีความหลากหลายสูง โดยในช่วง 4 ปีแรกของงานวิจัย อาจารย์ได้คัดเลือกสมุนไพรที่มีศักยภาพในการกำจัดพวกไรพืชและไรฝุ่นได้ถึง 40 ชนิด ตัวหลักที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ กานพลูและอบเชย แต่มีผู้รู้หลายท่านแนะนำให้เลี่ยงนำสมุนไพรสองชนิดนี้ เนื่องจากจะไปแย่งชิงกับการใช้ประโยชน์เรื่องการบริโภค แต่อาจารย์เองกลับมองว่ายิ่งเป็นพืชที่สามารถรับประทานได้ และนำไปใช้กับที่นอนได้ ยิ่งจะสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ อาจารย์จึงได้ทดลองโดยนำมาสกัดเป็นสารสกัดหยาบ และนำมาทดสอบความต้านทานของไรฝุ่นที่สำคัญและพบมากในประเทศไทย 2 ชนิดคือ Dermatophagoides pteronyssinus และ Blomia tropicalis Bronswijk

 

• สารสกัดหยาบที่ได้จะนำมาละลายด้วยเอทานอลที่ค่าความเข้มข้นต่าง ๆ กัน พบว่าความเข้มข้นเพียง 1% ก็สามารถฆ่าไรฝุ่นได้แล้ว แต่ข้อเสียคือ (1) สีของสารสกัดหยาบเมื่อนำไปทดลองพ่นใช้ดูแล้วจะปรากฏเป็นคราบสีเหลือง (2) การควบคุมคุณภาพในเชิงการผลิต เรายังไม่ทราบว่าสารสกัดหยาบตัวไหนที่ออกฤทธิ์จริง ๆ ดังนั้นคำตอบหนึ่งซึ่งอาจารย์จะใช้ในการควบคุมคุณภาพคือ การสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งภายหลังอาจารย์ก็ทราบว่าสารออกฤทธิ์หลักคือ ยูจินัล (Eugenol) ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยมียูจินัลไม่ต่ำกว่า 70-80% เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงได้คำตอบว่าการสกัดน้ำมันหอมระเหยสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องสี และการควบคุมคุณภาพ แต่สิ่งที่ยังกังวลอีกอย่างคือเรื่องกลิ่น เพราะผู้บริโภคบางคนไม่อยากให้มีกลิ่นเลย

ปัญหาเรื่องกลิ่น อาจารย์ได้แก้ไขโดยเสริมกลิ่นยูคาลิปตัส ไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองปรับปรุงเป็นกลิ่นมิ้นต์ กลิ่นส้ม กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นกานพลู-อบเชย ซึ่งเป็นกลิ่นดั้งเดิม

 

เสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกรด้วยการปลูกกานพลูและอบเชย

• ต้องยอมรับว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ประเทศไทย ราคาค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นบริษัทที่ซื้อสิทธิบัตรนี้ไปจึงต้องแก้ไขด้วยการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วน แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทผู้ผลิตกำลังมีแผนรณรงค์ให้เกษตรกรแถว จ.จันทบุรี ปลูกกานพลู และแถว จ.ฉะเชิงเทรา ปลูกอบเชยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างเสริมอาชีพให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

การป้องกันกำจัดไรฝุ่น

1. ทิ้งเครื่องนอน พรม เฟอร์นิเจอร์ที่ภายในทำจากวัสดุเส้นใย หรือนุ่นที่มีอายุการใช้งานหลายปี พบว่าที่นอนที่ทำจากนุ่นจะพบไรฝุ่นมากที่สุด รองลงมาคือ ที่นอนใยสังเคราะห์ เสื่อ และที่นอนใยมะพร้าว อายุการใช้งานของที่นอนมากขึ้นก็จะพบปริมาณของไรฝุ่นมากขึ้นตามลำดับ
2. ใช้ผ้าที่มีเส้นใยสานกันแน่น พลาสติก หรือเส้นใย vinyl และ nylon หรือเคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น ซึ่งอาจได้ผลดีในระยะแรกๆ
3. การดูดฝุ่น สามารถเคลื่อนย้ายตัวไรฝุ่นออกจากที่นอน หรือพรมได้น้อยกว่า 10%
4. การซักเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำที่อุณหภูมิอย่างน้อย 55 oc สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ส่วนการซักด้วยน้ำเย็นหรือการซักผ้า

ตามปกตินั้น แม้จะไม่สามารถฆ่าไรฝุ่นได้ แต่ลดสารก่อภูมิแพ้ได้
ที่มา : เอกสารเผยแพร่ไรฝุ่นบ้าน โดย ผศ.ดร.อำมร อินทรสังข์ และทีมวิจัย

 

การทดสอบสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น

 

พิฆาตไรฝุ่นแบบ 100%

• ปัญหาเรื่องวิธีการกำจัดไรฝุ่นให้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพอีกประการคือ อาจารย์ต้องทดสอบด้วยวิธีการสัมผัสโดยตรงและการรมในเครื่องรม เพราะไรฝุ่นมีทั้งที่อาศัยอยู่ข้างบนและข้างล่างที่นอน ที่อาศัยอยู่ข้างล่างก็เดินมุดไปมุดมาอยู่ตามเส้นใยวัสดุที่ใช้ทำเป็นฟูกที่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราฉีดสเปรย์โดยตรง ตัวไรฝุ่นที่มาสัมผัสก็ตาย ตัวที่ไม่สัมผัสก็ไม่ตาย การทดสอบด้วยเครื่องรม โดยฉีดสเปรย์รมไว้สักพัก แล้วตรวจอัตราการตายพบว่าเพียง 30 นาที ไรฝุ่นก็ตายเรียบ แต่ถ้าฉีดแบบสัมผัสตรงเลยภายใน 10 นาทีก็จะตายหมดเช่นกัน

จดสิทธิบัตร…นวัตกรรมของนักวิจัยไทย

• อาจารย์ทำเรื่องจดสิทธิบัตร 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ จดสิทธิบัตรเรื่องสารสกัดหยาบ ครั้งที่สอง จดสิทธิบัตรเพื่อมาทำน้ำมันหอมระเหย ซึ่งอาจารย์เห็นว่าการจดสิทธิบัตรจะเป็นประโยชน์มากในแง่สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ให้ทุนและผู้รับทุนเอง รวมถึงผู้สนใจก็จะมีกระบวนการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม

• ส่วนความสำคัญในเรื่องการจดสิทธิบัตร อาจารย์มองเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การจดสิทธิบัตรเป็นเรื่องที่จำเป็นโดยเฉพาะหากเป็นการวิจัย ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่คิดว่าเป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นหรือประเทศอื่นสามารถนำไปหาผลประโยชน์ได้ ถือเป็นการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ทำงาน เพราะบางครั้งผู้ทำงานบางคนใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตกว่าจะค้นพบจุดนี้ได้ รวมถึงเป็นการปกป้องสมบัติของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ประเด็นที่สอง องค์ความรู้ที่สามารถให้ประโยชน์กับทุกคนได้ หลักการไม่ซับซ้อนและมีผลในเชิงธุรกิจน้อย บางครั้งก็อาจไม่จำเป็นต้องจดสิทธิบัตร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการกลั่นกรองตามกฏเกณฑ์การจดสิทธิบัตร แต่บางกรณีสิทธิบัตรที่มีความสำคัญมากเช่น สิทธิบัตรยารักษาโรคเอดส์ ก็ควรอนุญาตสิทธิให้กับทุกชาติเพราะเป็นเรื่องของชีวิตคนซึ่งมีค่ากว่าทรัพย์สินใดๆ

วัดคุณภาพสถาบันการศึกษาด้วยจำนวนสิทธิบัตร

• ในระยะหลังนี้ อาจารย์เห็นว่าตัวชี้วัดคุณภาพของสถาบันการศึกษาอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนสิทธิบัตร ซึ่งอาจารย์เห็นว่าดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นตัวเสริมให้เกิดความสมบูรณ์ นอกจากการวัดกันด้วยจำนวนการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติเพียงอย่างเดียว

งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง…

• ก่อนอื่นอาจารย์ต้องขอขอบคุณทั้งโครงการ BRT และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สนับสนุนการวิจัยและดำเนินการเรื่องการจดสิทธิบัตรให้ รวมทั้งขอบคุณทีมงานวิจัย โดยเฉพาะคุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน ที่ได้ร่วมกันทำงานกันอย่างเข้มแข็งด้วยดีเสมอมา ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชน 2 บริษัทได้ขอซื้อสิทธิบัตรร่วมกันไว้แล้ว และได้ผลิตและทดลองจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายต่างกัน บริษัทแรกจะเน้นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง ส่วนอีกบริษัทเน้นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับสูง เน้นความเป็นสปาและเพื่อส่งออกมากกว่า

 

• ที่นอนที่เราซื้อมาใหม่ ๆ จะยังไม่มีไรฝุ่น แต่หลังจากนั้นสักประมาณ 2-3 เดือนก็จะมีไรฝุ่นแล้ว เพราะไรฝุ่นเป็นสัตว์ประเภทที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังที่ร่วงหล่นเป็นอาหาร ซึ่งตลอดชีวิตของคนเราสลัดคราบผิวหนังเหล่านี้ถึง 3 – 4 กิโลกรัม

 

• วิธีใช้เพียงฉีดสเปรย์และคลุมด้วยผ้าห่มหนาๆ สัปดาห์แรก 2 ครั้ง เพื่อให้ไรฝุ่นตัวเต็มวัยบนที่นอนตายหมด ยกเว้นไข่จะตายแค่ครึ่งหนึ่ง (ไข่ไรฝุ่นมีอัตราการหายใจต่ำ ฉะนั้นไข่อาจจะตายเพียงครึ่งหนึ่ง) สัปดาห์ต่อมาจึงฉีดซ้ำเพื่อฆ่าตัวอ่อนไรฝุ่นที่เหลือ หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดด้วยการปัดกวาดหรือดูดฝุ่นซ้ำอีกครั้งยิ่งดี หลังจากนั้นก็ฉีดซ้ำทุก 1-2 เดือนเท่านั้น ซึ่งดีกว่าต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ

 

• สรรพคุณของสมุนไพรที่ใช้กำจัดไรฝุ่นที่ผมภูมิใจมากก็คือ มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า กานพลูและอบเชยสามารถฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียได้ด้วย เป็นผลพลอยได้โดยที่เราไม่ตั้งใจ เหมือนเราได้ซักแห้งที่นอน อีกทั้งมีกลิ่นหอมแบบดั้งเดิมเหมือนการปรับอากาศและทำให้หลับสบาย ส่วนคนที่ใช้และเป็นโรคภูมิแพ้หลายคนก็มีอาการดีขึ้นมาก อีกอย่างซึ่งตอนนี้กำลังให้ลูกศิษย์ปริญญาโททำวิจัยอยู่ก็คือ น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้สามารถลดระดับสารก่อภูมิแพ้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการวิจัยที่ผ่านมากว่าจะหาจุดที่เหมาะสมได้ก็ใช้เวลาไปหลายปีเหมือนกัน

การตลาดกับงานวิจัย

• จากประสบการณ์การทำงานวิจัย อาจารย์เห็นว่าความเป็นวิชาการมีความหลากหลายมาก แต่ละศาสตร์ แต่ละสาขา มีวิวัฒนาการและมีความสำคัญเฉพาะตัว ไม่อาจพูดได้ว่าใครสำคัญกว่าใคร เราต้องการศาสตร์ทุกอย่างมาผสมผสานกันเพื่อที่จะก่อประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์ และใช่ว่างานวิจัยทุกชิ้นจะสามารถออกสู่ตลาดได้ทั้งหมด อาจารย์คิดว่าเราต้องมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่สามารถสู่ห้างได้ อีกจำนวนหนึ่งต้องเป็นหิ้ง เป็นคลังสมองไว้ ต้องรู้จักเลือกงานวิจัยพื้นฐานที่ต้องใช้เมื่อจำเป็น บางครั้งนำงานวิจัยพื้นฐานมา 10 เล่ม ใช้จริงแค่ 1 เล่ม หรือนำมารวม ๆ กันเพื่อผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ 1 ชิ้น ขึ้นอยู่กับการจัดการความรู้นั้น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ

• ช่วงหลัง อาจารย์เห็นการ์ตูนเยอะมาก เป็นการ์ตูนแห่งความรู้ นำความรู้มาเรียบเรียงใหม่ให้อยู่ในรูปที่น่าสนใจ เช่น นำเรื่องกิ้งกือมาทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่สัตว์เดินดินเล็กๆ ที่เราไม่เคยสนใจมันเลย

ป้องกันไว้…ดีกว่าแก้ไขภายหลัง

• เป้าหมายอีกประการที่อาจารย์วางไว้ก็คือ ไม่ต้องทุกบ้านจะต้องมีสเปรย์กันไรฝุ่นนี้ แต่อยากประชาสัมพันธ์ให้คนใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สเปรย์กันไรฝุ่นนี้ก็ได้ แต่อยากให้คนหันกลับมาใส่ใจความสะอาดบนที่นอนของตัวเองมากกว่า เพราะเกือบครึ่งชีวิตเราอยู่บนที่นอน ทำความสะอาดสักนิด ปัดกวาดก็ยังดี แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ใช้สเปรย์ตัวนี้ฉีดไปแล้วก็ดูดฝุ่นหรือปัดกวาดบ้าง รับรองว่าสุขภาพเราจะดีขึ้น จะทำให้ที่นอนน่านอนมากยิ่งขึ้นคือหลับอย่างปลอดภัยและอุ่นใจ

 

ความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกับนักวิจัยอาชีพ

• โชคดีที่อาจารย์มีงานหลักอยู่ 3 งาน งานหลักแรกคือ การสอน แต่ถ้าให้อาจารย์สอนอย่างเดียว พูดตรง ๆ ว่าคงจะมีปัญหากับชีวิตแน่ เพราะต้องพูดซ้ำไปซ้ำมา อาจารย์ยอมรับว่ายังมีความเป็นครูอาจารย์ไม่เต็มร้อยเหมือนอาจารย์อีกหลายท่าน อาจารย์ชอบที่จะทำงานหลาย ๆ เรื่อง งานหลักที่สองคือ การทำงานวิจัย และงานหลักที่สามคือ การบริหารภายในคณะและการบริการสังคม ทั้งเป็นกรรมการภายในสถาบันและช่วยงานภายนอกอยู่อีก 4 สมาคม

• มีคำพูดของโปรเฟสเซอร์ที่ปรึกษาที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งท่านเป็น 1 ใน 5 ของนักวิจัยไรระดับโลก บอกกับผมก่อนจะกลับประเทศไทยไว้ว่า “ถ้าคุณสอนดีแค่ไหน ก็จะมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ชื่นชมคุณ แต่ถ้าคุณมีงานวิจัยที่ดี คนทั้งโลกจะชื่นชมคุณ”

ต่อยอดสู่งานวิจัยชิ้นใหม่

• อาจารย์มองเป้าของงานวิจัยไว้ว่า ถ้าใช้ประโยชน์โดยตรงไม่ได้ก็จะต้องทำให้นำไปใช้ประโยชน์ทางอ้อมให้ได้ คือ มองคำตอบไว้เลยว่าต้องสามารถนำไปใช้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็คือต้องรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะฉะนั้นงานขั้นต่อไปที่มองไว้และเตรียมการบ้างแล้วคืองานวิจัยที่ต่อยอดกับงานวิจัยด้านไรฝุ่น คือ หาวัตถุดิบแหล่งใหม่อย่างสาหร่าย มาทำวิจัยต่อ อีกเรื่องคือการวิจัยสกัดน้ำมันหอมระเหยมาควบคุมแมลง และใช้ประโยชน์ในปศุสัตว์

• และนี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมของการแก้ปัญหาไรฝุ่นด้วยน้ำมันหอมระเหย ผลงานจากการวิจัยและพัฒนามากว่า 8 ปี ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย

 ที่มา : บทสัมภาษณ์ และ เอกสารเผยแพร่ไรฝุ่นบ้าน โดย ผศ.ดร.อำมร อินทรสังข์ และทีมวิจัย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: ประชาคมวิจัย ฉบับที่ : 92 หน้าที่ : 42